ประเด็นร้อน

ก่อนเลือกตั้ง นโยบายต้านโกง หลังเลือกตั้ง โกงเมื่อไร ต้านเมื่อนั้น

โดย ACT โพสเมื่อ May 12,2023

ก่อนเลือกตั้ง : นโยบายต้านโกง
หลังเลือกตั้ง : โกงเมื่อไร ต้านเมื่อนั้น
.
ก่อนหน้านี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไป ทำให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันมีผลต่อการตัดสินใจมากจริง ๆ ตัวอย่างข้อค้นพบจากผลสำรวจที่น่าสนใจ เช่น ประชาชนมองว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ต้องแก้มากที่สุด 25% ประชาชนมองว่านโยบายต่อต้านคอร์รัปชันมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนน 67%
.
และตอนนี้ นับถอยหลังไม่ถึงสัปดาห์ วันที่ 14 พ.ค. คนไทยทุกคนก็จะมีโอกาสเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรที่จะมีทั้งฝ่ายที่ตั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งเราอยากได้รัฐบาลที่บริหารอย่างไร้คอร์รัปชัน และฝ่ายค้านที่ทำงานตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามทุจริตให้ประเทศ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าแต่ละพรรคจะมีนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันอย่างไร ? พวกเขาจะตอบสนองความต้องการประชาชนได้แค่ไหน วันนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้นำข้อมูลนโยบายและแนวคิดการต่อต้านคอร์รัปชันทั้ง 9 พรรคมาเล่าให้ฟังโดยรวบรวมมาจากข้อมูลที่แต่ละพรรคได้ยื่นต่อ กกต. ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ แถลงการณ์พรรค และเวที Debate
.
***หมายเหตุ : ลำดับพรรคเรียงตามลำดับพยัญชนะไทย
1. พรรคก้าวไกล “รัฐโปร่งใสไร้กลโกง” นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นต่อ กกต. ซึ่งมีทั้ง 7 ข้อย่อย โดยแต่ละข้อมีวิธีการปราบปรามคอร์รัปชันดังนี้
• เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ : รัฐมีหน้าคุ้มครองสิทธิให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล โดยรัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก หากจะปกปิดต้องยื่นคำร้องขอด้วยเหตุผล รวมถึงข้อมูล “ความลับราชการ” จะต้องกำหนดวันเปิดเผย ไม่เป็นความลับตลอดไป
• ระบบจับโกงอัจฉริยะ : เมื่อข้อมูลเปิด ระบบจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบ real-time และ “ปักธงแดง” เพื่อให้ประชาชนหรือหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ โดยจะเปิดให้ใช้งานภายใน 1 ปีแรก
• โครงการ “คนโกงวงแตก” จูงใจให้คนที่คิดจะโกง ระแวงกันเอง : ออกกฎหมายคุ้มครองคนที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดกันทุจริตก่อน ให้ได้รับการลดโทษหรือกันเป็นพยาน
• โครงการ “แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน” : ออกกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยและรับรองความก้าวหน้าในหน้าที่การงานให้กับเจ้าหน้าที่ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในหน่วยงาน (Whistleblower Protection) และเพิ่มรางวัลให้กับประชาชนทั่วไปที่ชี้เบาะแสการทุจริต
• ตัวแทนจับโกงจากประชาชนในโครงการมูลค่าสูง : เพิ่มการตรวจสอบกระบวนการการจัดซื้อของภาครัฐที่มีมูลค่าสูง ให้แก่ผู้สังเกตการณ์อิสระที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในการซักถาม ขอข้อมูล และดักทางการทุจริต
• ห้ามใช้เงินหลวง โพรโมตตัวเอง : ตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ภาครัฐอย่างเข้มข้น และกำหนดว่าการใช้งบจะต้องเป็นการโฆษณาโครงการหรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น โดยห้ามไม่ให้ใช้เพื่อโฆษณาตัวบุคคล
• ป.ป.ช. ยึดโยงประชาชน : ปรับกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. 9 คน ให้มีที่มาที่หลากหลาย ยึดโยงกับประชาชน และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายและเพิ่มกลไกให้ประชาชนริเริ่มกระบวนการถอดถอน ป.ป.ช. ได้ ผ่านการเข้าชื่อ 20,000 รายชื่อ

2. พรรคชาติพัฒนากล้า : หากเข้าไปดูนโยบายพรรคที่ได้ยื่นกับ กกต. จะพบว่าชาติพัฒนากล้ามี 2 นโยบาย คือ “ราชการ - งบประมาณโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยกระดับแผนที่งบประมาณ” เป็นนโยบายการเปิดข้อมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และอีกนโยบายคือ “ราชการ 1 คำขอ” เป็นหนึ่งนโยบายที่นายกรณ์ จาติกวณิช ได้พูดไว้หลายครั้งใน Debate ว่าจะสร้าง GovTech (Government Technology) ที่จะนำระบบราชการมาไว้บนมือถือ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในการ Debate นายกรณ์ จาติกวณิช ยังได้พูดถึงการเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี ที่จะยกธุรกิจสีเทามาไว้ในที่สว่าง เพื่อลดการจ่ายส่วยในที่มืด
.
3. พรรคไทยภักดี นโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันที่พรรคไทยภักดีได้ยื่นได้กับ กกต. ชื่อนโยบาย “ปราบโกง” หรือหลายคนอาจจะรู้จักในชื่อของนโยบายยกเลิกแบงก์พันแก้โกง ซึ่งนโยบายปราบโกงดังกล่าว เป็นการพูดรวม ๆ ถึงสิ่งที่พรรคไทยภักดีจะทำ ตั้งแต่การยกเลิกแบงก์พัน การแก้กฎหมายให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ การเปิดข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงกับข้อมูลของ ป.ป.ช. ไทย รวมถึงยังประกาศสโลแกน “รบแตกหักคนโกงชาติ นักการเมืองต้องมีอาชีพสุจริต”
.
4. พรรคไทยสร้างไทย “ประกาศสงครามกับคอร์รัปชัน” เป็นนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันเดียวที่อยู่ในเอกสารที่พรรคไทยสร้างไทยได้ยื่นต่อ กกต. โดยมีเนื้อหามุ่งมั่นที่จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งองค์กรอิสระ ตำรวจ อัยการและศาล อย่างไรก็ตามนอกจากนโยบายพรรคดังกล่าว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตพรรคไทยสร้างไทย ได้มีการตั้ง “ศูนย์ปราบคอร์รัปชัน” ที่ทำไปแล้ว รวมถึงประกาศโมเดลปราบโกง 7 ข้อในระหว่าง Debate ได้แก่
• ผู้นำไม่มีประวัติคอร์รัปชัน
• ราชการทุกคนต้องถูกตรวจสอบ
• คดีคอร์รัปชันต้องมีเส้นตาย
• ลงโทษหนักทั้งผู้ให้และผู้รับ รวมถึงเอกชน
• “เกลือเป็นหนอน” ใครแจ้งเบาะแสได้ดี
• สนับสนุนให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการตรวจสอบ
• นักการเมือง “ตัวใหญ่ ๆ” ต้องติดคุก

5. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่ไม่ได้มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันอยู่ในข้อมูลที่ยื่นให้กับ กกต. แต่เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นตัวแทนของพรรคในการพูดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่พรรคยกระดับให้เป็น”วาระแห่งชาติเร่งด่วน” (National Urgent Agenda) โดยมีแนวทางดังนี้
• ยกระดับการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็น “วาระแห่งชาติเร่งด่วน” (National Urgent Agenda)
• ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตยสุจริตและหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
• สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสื่อมวลชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน
• ส่งเสริมการเรียนการสอนและการปลูกฝังจิตสำนึก “โตไปไม่โกง” รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ของสังคมถึงภัยร้ายของการคอร์รัปชัน
• สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขจัดการคอร์รัปชันและส่งเสริมแพลตฟอร์มของภาคเอกชนและภาคประชาชนในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการตรวจสอบและแก้ปัญหาการทุจริต
• เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการโดยเฉพาะการจัดซื้อและการประมูลภาครัฐทั้งราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น
• ปฏิรูประบบราชการ การเมืองและกระบวนการยุติธรรมเพื่อความโปร่งใส การพัฒนาระบบการอนุมัติ อนุญาตให้มีความโปร่งใส การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน
• การยกเลิกกฎหมายกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทุจริต
• การเพิ่มโทษอาญาและการยึดทรัพย์คดีฉ้อราษฎร์บังหลวง การลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับสินบนอย่างจริงจัง
• การร่วมมือกับนานาชาติในการปราบปรามการทุจริตข้ามชาติทุกรูปแบบภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน
.

6. พรรคพลังประชารัฐ เกือบจะเป็นพรรคที่ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันในฐานข้อมูลของ กกต. อย่างไรก็ดีพรรคพลังประชารัฐยังมีนโยบาย “สังคมสีขาว” ที่พูดถึงการแก้ปัญหาสังคมโดยรวม ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ การใช้อิทธิพลในทางที่ผิด นโยบายนี้จะรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยลดการใช้ดุลยพินิจในระบบราชการและให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังเคยกล่าวในแถลงการณ์พรรคว่าจะมีการเพิ่มโทษนักการเมืองที่ทุจริตให้รุนแรงขึ้นเป็นสองเท่า
.
7. พรรคเพื่อไทย เป็นอีกหนึ่งพรรคที่ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันในฐานข้อมูลที่ยื่นต่อ กกต. แต่วันที่ 5 เมษายน นายชัยเกษม นิติสิริ หนึ่งในแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยได้ปราศรัยแนวทางของพรรคในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
• ยกระดับหน่วยงานราชการให้เป็นดิจิทัล ให้ประชาชนเข้าถึงบริการรัฐได้ในทีเดียวสามารถตรวจสอบผ่าน Blockchain ได้อย่างโปร่งใส
• ชำระค่าธรรมเนียมให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ลดทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง
• ทำ Open Government ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ทุกภาคส่วน
ซึ่งเรื่องของความโปร่งใสเองก็ถูกพูดถึงโดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ตัวแทน Debate จากพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน นพ.พรหมินทร์ ยังพูดถึงแนวคิด “หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก” จึงต้องปราบคอร์รัปชันตั้งแต่บนลงล่าง นอกจากนี้นายสุทิน คลังแสง รองหัวพรรคเพื่อไทยยังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวคิดที่จะนำเครือข่ายประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปราบปรามในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน และจะใช้กฎหมายให้เข้มแข็งมากขึ้น
.
8. พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นอีกพรรคที่ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันในฐานข้อมูลของ กกต. อย่างไรก็ตาม นายไตรรงค์ สุวรรณคีรีได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า การปราบปรามการคอร์รัปชันเป็นนโยบายอันดับหนึ่งที่รวมไทยสร้างชาติเลือก โดยได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว นายไตรรงค์ ยังพูดถึงการสังคายนากฎหมาย และระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็นอุปสรรค และเปิดช่องให้เกิดการทุจริต
.
9. พรรคเสรีรวมไทย “ปราบทุจริต พิชิตคนพาล อภิบาลคนดี คืนงบฯ ให้ประชาชน” คือสโลแกนพรรคเสรีรวมไทยที่เรามักได้ยิน แต่จริง ๆ แล้วชื่อนโยบายปราบคอร์รัปชันของพรรคเสรีรวมไทยในฐานข้อมูลของ กกต. คือ “ปราบทุจริต คืนงบประมาณให้แก่ประชาชน” โดยนโยบายนี้มุ่งเน้นที่จะปราบปรามคอร์รัปชันเพื่อให้งบประมาณรัฐไม่รั่วไหล ให้งบประมาณแผ่นดินสามารถนำมาใช้จ่ายเพื่อประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
.
ทั้งหมดคือนโยบายและแนวคิดของแต่ละพรรคที่มีเป้าหมายและวิธีในการปราบปรามคอร์รัปชันต่างกันออกไป พรรคไหนฟังแล้วชัดเจนหรือไม่ชัดเจน ? มีความเป็นรูปธรรมแค่ไหน ? น่าเลือกหรือไม่น่าเลือก ? คงแล้วแต่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน วันอาทิตย์ 14 พ.ค. นี้จำเลขพรรคที่ท่านชอบนโยบายให้แม่น กำปากกาให้แน่น แล้วกาบัตรลงกล่อง เพื่อที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลชุดต่อไปที่ไม่โกงและสามารถปราบปรามทุจริตได้จริง คนโกงโดนลงโทษจริง ทำให้ประเทศไทยไร้คอร์รัปชันได้จริง
---
ข้อมูลอ้างอิง :
- นโยบายของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ
https://www.ect.go.th/ect_th/news_page.php?nid=20499
- เลือกไป ‘ไม่โกง’ เช็คลิสต์นโยบาย ก่อนเข้าคูหา
https://theactive.net/data/corruption-policy-checklist/
- 300 นโยบายพรรคก้าวไกล
https://election66.moveforwardparty.org/policy
- #ไทยพีบีเอสดีเบตใหญ่ #เลือกตั้ง66 #เลือกอนาคตประเทศไทย ประชันวิสัยทัศน์ 10 ตัวแทนพรรคการเมือง
https://www.youtube.com/watch?v=HwKINiR0BiU&t=1s
- ไทยภักดีลุยสงขลา ชูนโยบายปกป้องสถาบัน ปราบโกง รบแตกหักคนโกงชาติ
https://www.thairath.co.th/news/politic/2628073
- ‘อนุดิษฐ์’ นั่งผอ.ศูนย์ปราบโกงฯ ‘ไทยสร้างไทย’ มุ่งสางปัญหาค่าไฟแพง-ทุจริตในกองทัพ
https://workpointtoday.com/politic-56/
- เลือกตั้ง66 "ประชาธิปัตย์" ประกาศนโยบาย 10 ต้านโกง โยงเงื่อนไขร่วมรัฐบาล
https://www.springnews.co.th/news/election66/837195
- "ประวิตร" เปิดผู้สมัคร ส.ส.พปชร. ชูนโยบาย "3 เร่งด่วน 8 เร่งรัด”
https://www.thaipbs.or.th/news/content/326149
- "เพื่อไทย" ปราศรัยใหญ่ ชู 11 นโยบาย เดินหน้าแลนด์สไลด์
https://www.thaipbs.or.th/news/content/326359
- เปิดตัว3นักการเมืองตบเท้าเป็นสมาชิก ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ลุยปราบโกง!...
https://www.dailynews.co.th/news/1944372/